กีฬามวยไทยไชยา
จัตุชัย จำปาหอม
มวยไทยไชยาเป็นกีฬาพื้นบ้านทางภาคใต้ของประเทศไทย เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 ถือว่าเป็นศิลปะมวยไทยประจำถิ่นของอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6 จนทำให้คนไทยรู้จักมวยไทยไชยามาจนถึงปัจจุบัน จากประวัติและความเป็นมา มวยไทยไชยาแบ่งออกเป็น 4 ยุค ดังนี้
1. มวยไทยไชยายุคแรก เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ถึงสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพ่อท่านมา ซึ่งเป็นคนกรุงเทพ ฯ เป็นครูมวยอดีตขุนศึก สมัยรัชกาลที่ 3 ตอนปลาย ท่านออกบวชและธุดงค์มาที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา ท่านเป็นผู้ที่มีวิชาการต่อสู้ พร้อมคาถาอาคม ได้ช่วยชาวบ้านในการไล่ช้างที่มาอาละวาด ทำให้พืชไร่เสียหาย ด้วยคาถาอาคมจนช้างไม่มารบกวนอีก
ชาวบ้านจึงสร้างวัด เรียกว่า วัดทุ่งจับช้าง ท่านได้สอนมวยไทยให้กับ
พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) ซึ่งเป็นปฐมศิษย์ และสอนมวยให้กับ
คนในท้องถิ่น ปัจจุบันที่วัดทุ่งจับช้างมีสถูปพ่อท่านมาและรูปเหมือน
ขนาดเท่าองค์จริง ของพ่อท่านมาซึ่งสร้างขึ้นภายหลังในปี พ.ศ. 2547
2. มวยไทยไชยายุคเฟื่องฟู เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6 โดยพระยาวจี สัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยา ได้สอนศิษย์มวยไทยไชยาเพื่อเป็นครูมวยสอนมวยให้กับคนในท้องถิ่น จนมีศิษย์ที่เก่งกล้าสามารถอยู่ 2 คน คือ นายปรง จำนงทอง กับ นายนิล ปักษี เป็นศิษย์เอกในการแข่งขันชกมวยที่สนามมวยศาลาเก้าห้อง ต่อมาได้ส่งนักมวยเข้าแข่งขันในกรุงเทพมหานคร ในงานพระเมรุของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายอุรุพงศ์รัชสมโภช ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกรมมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวังในเจ้าจอมมารดาเลื่อน สิ้นพระชนม์ 20 กันยายน พ.ศ. 2452 พระชันษา 16 ณ มณฑลพิธีพระเมรุสวนมิสกะวัน พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มีมวยหน้าพระที่นั่ง ในงานนี้มีมวยจากหลายเมืองเข้าแข่งขัน นายปรง จำนงทอง เป็นหนึ่งที่เข้าแข่งขันจนได้รับชนะเลิศ โดยชนะมวยดังจากโคราชแต่ไม่ทราบชื่อ ต่อมากรมกระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น ได้กราบบังคมทูล พระเจ้าอยู่หัว วันที่ 20 พฤษภาคม รัตนโกสินทร์ศก 129 เรื่องขอพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้นักมวย คือ นายปรง จำนงทอง และนักมวยอีก 2 คน เพื่อให้ปรากฏชื่อและบำรุงรักษามวยใน หัวเมือง ตั้งเป็นครูมวยตามหัวเมืองโดยมีบรรดาศักดิ์เป็น “หมื่นมวยมีชื่อ” ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์สำหรับข้าราชการประทวน และดำรงตำแหน่งกรรมการพิเศษเมืองไชย ถือศักดินา 300 เป็นการแจ้งความจากกระทรวงมหาดไทยวันที่ 10 มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก 129 และในคราวเดียวกันกับนักมวย 2 คน ก็ได้รับพระราชทาน ด้วย คือ นายกลึง โตสะอาด เป็น “หมื่นมือแม่นหมัด” ตำแหน่งกรรมการพิเศษ เมืองลพบุรี ถือศักดินา 300 และนายแดง ไทยประเสริฐ เป็น “หมื่นชงัดเชิงชก” ตำแหน่งกรรมการพิเศษเมืองนครราชสีมา ถือศักดินา 300
พระยาวจีสัตยารักษ์ คุณชื่น ศรียาภัย
ต่อมาคุณชื่น ศรียาภัย บุตรี ของพระยาวจีสัตยารักษ์ ก็ดำเนินรอยตามบิดาเป็นบุตรีคนโต แต่ชอบมวยไทยไชยาเป็นชีวิตจิตใจได้สานงานต่อ โดยนำนักมวยชื่อดังของไชยา เช่น นายสอน ศักดิ์เพชร นายจ้อย เหล็กแท้ ฯลฯ ขึ้นมาชกที่กรุงเทพฯ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำให้คนภาคกลางหรือทั่วไทยได้รู้จักมวยไทยไชยา ทำให้มวยทางภาคใต้หรือมวยไทยไชยา มีชื่อเสียงมาจนถึงทุกวันนี้
3. มวยไทยไชยายุคเปลี่ยนแปลง ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 7 ถึงรัชกาลที่ 9 มวยไทยไชยาสมัยนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากมวยหมัดถัก หรือมวยคาดเชือก แบบโบราณมาเป็นสวมนวม เนื่องจากเกิดเหตุสำคัญทางประวัติศาสตร์ของมวยไทย กล่าวคือ นายแพ เลี้ยงประเสริฐ มวยดังท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์ ชกนายเจียร์ พระตะบองซึ่งเป็นครัวแขกเขมรถึงตาย ทางการจึงประกาศให้การแข่งขันกีฬามวยไทยทั่วไทย จำเป็นต้องสวมนวมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และที่เวทีมวย
วัดพระบรมธาตุไชยา ก็เริ่มมีชื่อเสียงอีกครั้งมวยไทยไชยาเริ่มโด่งดังใน
ยุคสวมนวม มวยดังมีชื่อที่ยังมีชีวิตอยู่ คือ นายจ้วน หิรัญกาญจน์ เป็นมวยดัง
2 ยุค ก่อนนั้นยุคคาดเชือก และยุคสวมนวม ปัจจุบัน อายุ 99 ปี นายนุกูล
บุญรักษา และนายชาย เผือกสวัสดิ์ ต่อมาเวทีมวยวัดพระบรมธาตุสิ้นสุดลง นายจ้วน หิรัญกาญจน์
มวยไทยไชยาก็เริ่มลดน้อยลง และหายไป
4. มวยไทยไชยายุคอนุรักษ์มี 2 ช่วง คือ มวยไทยไชยายุคอนุรักษ์ตอนต้น มีปรมาจารย์ที่ช่วยกันสนับสนุน ส่งเสริม และอนุรักษ์มวยไทยไชยาให้คงอยู่มี 3 ท่าน คือ ปรมาจารย์ สุนทร (กิมเส็ง) ทวีสิทธิ์ ผู้เป็นครูมวยภาคกลาง หรือพระนครผู้ถ่ายทอดให้กับศิษย์เอก คือปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ผู้กอบกู้อนุรักษ์มวยไทยไชยาให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยในเวลาต่อมาได้อบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ ให้รักษาเอกลักษณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีของมวยไทยไชยาให้คงอยู่และได้ถ่ายทอดมวยไทยโบราณ และมวยไทยไชยาลงในหนังสือฟ้าเมืองไทยในช่วงปี พ.ศ. 2515-2518 และ ปรมาจารย์เจือ จักษุรักษ์ เพื่อนรุ่นน้องของปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ที่เรียนมวยไทยไชยาจากครูมวยชื่อสำราญ ศรียาภัย สมัยเรียนอยู่ที่โรงเรียนนายเรือ
ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย อาจารย์อมรกฤต ประมวญ (ครูแปรง)
มวยไทยไชยา ยุคอนุรักษ์ ตอนปลาย ช่วง พ.ศ. 2525 – 2550 ได้มีกลุ่มอนุรักษ์เพื่อสืบทอดมวยไทยไชยาให้คงอยู่คู่แผ่นดิน คือ ครูทองหล่อ ยาและ หรือครูทอง เชื้อไชยา ครูวัลลภิศร์ สดประเสริฐ ครูกฤดากร สดประเสริฐ ครูวัฒนะ ปานพิพัฒน์ ครูอำนาจ พุกศรีสุข ครูอมรกฤต ประมวญ ครูภูวศักดิ์ สุขศิริอารี ครูเอกภพ ศุภภาโส ฯลฯ ได้ช่วยสืบสานอนุรักษ์ให้มวยไทยไชยา คงอยู่คู่แผ่นดินไทย เป็นเอกลักษณ์ไทย ภูมิปัญญาไทย วัฒนธรรมไทย มรดกไทย ตลอดไป
กีฬามวยไทยไชยา มีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจอยู่ 6 ประเด็น คือ 1. การตั้งท่ามวยหรือการจดมวย 2. ท่าครูหรือท่าย่างสามขุม 3. การร่ายรำไหว้ครู 4. การพันหมัดแบบคาดเชือก 5. การแต่งกายและ 6. การฝึกซ้อม
1. การตั้งท่ามวยหรือหรือการจดมวย เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมวยไทยไชยาเป็นท่าเริ่มต้นก่อนที่จะขึ้นในท่าต่อไป คือ ท่าครู หรือท่าย่างสามขุม การตั้งท่ามวยหรือการจดมวยของแต่ละค่ายจะไม่เหมือนกัน ท่าจดมวยของมวยไทยไชยาที่เห็นได้เด่นชัด คือ ถ้านักมวยจดมวยด้วยเหลี่ยมขวา ขาซ้ายจะอยู่ด้านหน้า ขาขวาจะอยู่ด้านหลัง ย่อขาทั้งสองลงเล็กน้อย ส่วนมือซ้ายจะอยู่ด้านหน้าระหว่างอุณาโลม คือ ตรงกลางระหว่างคิ้ว ห่างใบหน้าประมาณ 12 นิ้ว มือขวา อยู่ตรงกลางของแขนด้านซ้ายหรือใกล้บริเวณปากและคาง ห่างใบหน้าประมาณ 3 นิ้ว
2. ท่าครูหรือท่าย่างสามขุม เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของมวยไทยไชยา เป็นท่าในการรุก รับ ตอบโต้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่านักมวยจะเคลื่อนที่ไปในทิศทางใดก็ตาม ท่าย่างสามขุมเป็นท่าที่ป้องกันได้อย่างดีพร้อมกับตอบโต้หรือออกทักษะแม่ไม้มวยไทยได้อย่างดีเยี่ยม เป็นท่าที่กระทำต่อจากท่าจดมวย แต่มีการยกเท้าเพื่อย่างก้าว ไปได้ในทุกทิศทางในการที่จะรุก รับ ป้องกัน ตอบโต้กับคู่ต่อสู้ จึงจัดว่าเป็นแม่ไม้มวยไทยที่ดีเยี่ยมที่สุดของมวยไทยไชยา จึงถือว่าเป็นท่าครู
3. การร่ายรำไหว้ครู เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกับมวยไทยค่ายอื่น เริ่มตั้งแต่การกราบ จะนั่งในท่านั่งยอง ๆ เพื่อก้มลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วยืนขึ้นยกหัวแม่มืออุดรูจมูกทีละข้าง เรียกว่าวิชาตรวจลมหายใจ หรือเรียกว่า “ปราณ”
4. การพันหมัดแบบคาดเชือกจะพันหมัดแค่ข้อมือ เพื่อป้องกันการซ้นหรือเคล็ดเท่านั้น เพื่อให้เกิดการคล่องตัวในการรุกเข้าทำคู่ต่อสู้ในการเข้าวงใน เพื่อใช้ศอกให้ถนัดและสามารถจับคู่ต่อสู้ได้ง่ายขึ้นในการใช้เข่าเข้ากระทำคู่ต่อสู้
5. การแต่งกายของมวยไทยไชยา ใช้กางเกงขาสั้นแบบขาก๊วย ใช้ผ้าผูกลูกโป๊ะ (กระจับ) โดยเครื่องผูกศีรษะและแขน เรียกว่า ประเจียด (ในขณะชกประเจียดจะไม่ถอดออก) เครื่องผูกหมัด เรียกว่า หมัดถัก
6. การฝึกซ้อมมวยไทยไชยา ที่เป็นเอกลักษณะเด่นชัด คือ การนั่งขัดสมาธิบนครกตำข้าวขนาดใหญ่ แล้วให้คู่ฝึกซ้อมเข้าชก โดยผู้ฝึกจะต้องหลบหมัดให้ได้ และการวิ่งบริเวณชายหาดที่มีน้ำประมาณครึ่งแข้ง
นอกจากนี้กีฬามวยไทยไชยามีระเบียบแบบแผนและประเพณีที่ทรงคุณค่าและเป็นที่ยอมรับปฏิบัติสืบทอดกันมา 3 ประการ ประการแรกคือ การมอบตัวเป็นศิษย์ เมื่อสนใจจะเป็นนักมวยไทยไชยา ศิษย์ก็จะเข้าไปหาครู ในวันพฤหัสบดีถือเป็นวันครู ต่อจากนั้นครูจะถ่ายทอดศิลปะวิทยาให้ หากศิษย์ฝึกซ้อมวิชามวยได้ในเบื้องต้นแล้ว ก็เรียกศิษย์มาขึ้นครูต่อหน้าพระพุทธรูป รับศีล 5 เมื่อเห็นว่าศิษย์คนใดมีความสามารถก็จะทำพิธีครอบครูให้สืบทอดวิชามวยไทยไชยาได้ ประการต่อมาคือเครื่องรางและของขลัง ซึ่งหมายถึงเครื่องผูกใจชนิดหนึ่งของนักมวยแต่ละบุคคลที่ศรัทธาเชื่อถือ นักมวยไทยไชยามีทั้งการนับถือพุทธคุณและไสยศาสตร์ควบคู่กันเพื่อใช้เป็นที่พึ่งทางใจ และประการสุดท้ายคือระเบียบการแข่งขัน การหมดยกมี 2 กรณี กรณีแรกจะยกมือขึ้นเพื่อขอเข้าพุ่ม (มุมนักมวย) กรณีที่ 2 จะใช้ลูกอัน (กะลาเจาะรูใส่ในโถน้ำเมื่อกะละจมถือว่าหมดยก) เวียนคู่ชกไปเรื่อย ๆ สมัยเวทีวัดพระบรมธาตุไชยา มีกำหนดการชกเป็น 5 ยก เครื่องดนตรีใช้ปี่กับกลองเท่านั้น
แม่ไม้มวยไทยไชยา หมายถึง ทักษะ ท่าทางที่ครูอาจารย์ประสิทธิ์ประสาทให้ไว้เป็นแม่บท ได้แก่ ท่าจด หรือท่าคุม ตลอดจนการย่างสามขุมเป็นแม่ไม้มวยไทยไชยา เพราะถ้าฝึกจนเกิดความชำนาญจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการนำไปใช้ในการรุก รับ ตอบ โต้ คู่ต่อสู้ ได้เป็นอย่างดีเยี่ยม กีฬามวยไทยไชยามีกระบวนท่าที่ใช้ในการฝึกซ้อมและการแข่งขันอยู่ 5 ชุดประกอบด้วย 1. แม่ไม้มวยไทยไชยา ผู้เขียนขอนำเสนอแนวคิดของปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ดังนี้ 1) ปั้นหมัด 2) พันแขน 3) พันหมัด 4) พันหมัดพลิกเหลี่ยม 5) กระโดดตบศอก 6) เต้นแร้งเต้นกา 7) ย่างสามขุม
2. ท่าบริหารเพื่อพาหุยุทธ์ มี 12 ท่า ดังนี้ 1) ท่าปั้นหมัด 2) ท่าพันแขน 3) ท่าพันหมัด 4) ท่าพันหมัดพลิกเหลี่ยม 5) ท่าเล่นมวย 6)ท่าทัดมาลา 7) ท่าจูบศอก 8) ท่ากระโดดตบศอก 9) ท่าเต้นแร้งเต้นกา 10) ท่าย่างสามขุม 11) ท่าเหวี่ยงแข้ง 12) ท่าฉัด 3. ท่ามวยไทยไชยาพาหุยุทธ์ ประกอบด้วย 4 ทักษะ คือ 1) หมัด 2) เท้า 3) เข่า 4) ศอก
4. เคล็ดมวยไทยไชยา มวยไทยในทุกสำนักหรือค่ายมวยในปัจจุบันนี้แต่ละแห่งจะมีทีเด็ดสูตรลับกลเม็ด เด็ดพรายหรือเคล็ดมวยไว้ให้ลูกศิษย์ฝึกซ้อมจดจำ นำไปใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัวได้เป็นอย่างดี เคล็ดมวยไทยไชยาถือว่าเป็นรหัสลับที่แฝงไปด้วยคำไทยที่คล้องจองกันเป็นอย่างดีแต่สุดแท้ที่จะหยั่งถึงในการฝึกหรือตีความให้กระจ่าง มวยไทยไชยาจึงเป็นศาสตร์และศิลป์ของแผ่นดินไทย คนไทยควรภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งและเคล็ดมวยไทยไชยา มีดังนี้
เคล็ดมวยที่สำคัญ
ป้อง
ปิด
เปิด
ปัด
และ
5. ลูกไม้มวยไทยไชยา ท่าที่ใช้ได้ดีที่สุด คือ ท่าเสือลากหาง เป็นลูกไม้หรือไม้มวย ที่โดดเด่นของมวยไทยไชยา
กล่าวได้กีฬามวยไทยไชยาเป็นกีฬาที่มีความเป็นมาอันยาวนาน และมีเอกลักษณ์เฉพาะที่ทรงคุณค่า เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ มีกระบวนท่าที่เข้มแข็งและรุนแรง และมีกลเม็ดเคล็ดลับอันเฉียบคม ผู้ที่สนใจสามารถฝึกฝนเพื่อเป็นการออกกำลังกาย หรือใช้ป้องกันตัวจากศัตรู และนำมาฝึกเพื่อการแข่งขันได้อย่างเหนือชั้น เราคนไทยควรภูมิใจและร่วมกันสืบสานกีฬามวยไทยไชยาให้คงอยู่เป็นมรดกไทยและมรดกโลกต่อไป